คอกาแฟ เช็คด่วน! โรคอะไรบ้างที่ต้องระมัดระวังการบริโภค...
.
กาแฟ (Coffee) หนึ่งในเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมของคนทั่วโลก โดยเฉพาะในวัยเรียน และวัยทำงาน ส่วนในประเทศไทยวัฒนธรรมการดื่มกาแฟได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในพฤติกรรมประจำวันไปแล้ว โดยอัตราเฉลี่ยการดื่มกาแฟของคนไทยอยู่ที่ปีละ 300 แก้วต่อคน (เฉลี่ยวันละ 1 แก้ว) และมีแนวโน้มที่จเพิ่มขึ้นทุกปี
สาร "คาเฟอีน" ในกาแฟ มีฤทธิ์ในการกระตุ้นประสาทส่วนกลาง ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายตื่นตัว กระปรี้กระเปร่า นอกจากนี้มีการสำรวจพบประโยชน์ของกาแฟที่ดีต่อร่างกายอีกมากมาย เช่น ช่วยป้องกันสมองเสื่อม ลดโอกาสเป็นโรคพาร์กินสัน หรือช่วยกระตุ้นการขับถ่าย ฯลฯ แต่นอกจากข้อดีที่กาแฟมีต่อร่างกายแล้ว ข้อเสียของกาแฟก็มีไม่น้อยเช่นกัน และกาแฟก็อาจจะไม่ใช่เครื่องดื่มที่เหมาะสำหรับทุกคน
ผู้ที่มีโรคประจำตัวดังต่อไปนี้ ควรจำกัดการบริโภคกาแฟในปริมาณที่เหมาะสม โดยเฉพาะผู้ที่ไม่สามารถควบคุมอาการของโรคได้ ควรหลีกเลี่ยงจะดีกว่านะคะ
โรคนอนไม่หลับ: ควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟโดยเฉพาะหลังเวลา 14.00 น.
โรคหัวใจ : โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นช้าหรือเร็วไป ควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟเป็นพิเศษ เนื่องจากสารคาเฟอีนจะไปกระตุ้นทำให้หัวใจบีบตัวแรงและเต้นเร็วขึ้น
โรคความดันโลหิตสูง: เนื่องจากคาเฟอีนเพิ่มการทำงานของหัวใจและทำให้หลอดเลือดหดตัว จึงทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นได้
โรคเบาหวาน: เนื่องจากกาแฟมีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ดังนั้นคนที่เป็นเบาหวานชนิดที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ควรงดดื่ม แต่สำหรับคนที่เป็นเบาหวานแต่ควบคุมระดับตาลได้ดี การดื่มกาแฟสามารถทำได้แต่ต้องไม่เติมน้ำตาล ครีมเทียม หรือส่วนประกอบอื่นๆ เพิ่มเติม
โรคไขมันในเลือดสูง: ในกาแฟมีสารกลุ่มไดเทอร์พีน แม้ในเมล็ดกาแฟไม่มีโคเลสเตอรอล แต่สารในกลุ่มนี้ทำให้โคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือดเพิ่มขึ้น จึงอาจรบกวนการคุมระดับไขมันในผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงได้
โรคกระเพาะ: คาเฟอีนจะไปกระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น อาจทำให้เกิดการระคายเคือง ระบบทางเดินอาหาร และเสี่ยงเกิดแผลในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น
โรคกระดูกพรุน: คาเฟอีนจะไปขวางการดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกาย และเพิ่มการขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะ อาจส่งผลต่อความหนาแน่นของกระดูกได้
โรคลำไส้แปรปรวน/มีอาการท้องเสีย: สารคาเฟอีนในกาแฟอาจทำให้อาการท้องเสียหรืออาการของโรคแย่ลงกว่าเดิม โดยเฉพาะเมื่อได้รับในปริมาณมาก
โรควิตกกังวล: อาจมีอาการวิตกกังวลที่แย่ลงได้จากการดื่มกาแฟ
คุณแม่ตั้งครรภ์: หญิงที่ตั้งครรภ์ควรได้รับคาเฟอีนไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบเท่ากับกาแฟสำเร็จรูปไม่เกิน 2 แก้ว หรือเท่ากับกาแฟชงสด 1 แก้ว หากได้รับกาแฟมากกว่านี้อาจเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการแท้งบุตร คลอดก่อนกำหนด และทารกมีน้ำหนักตัวแรกคลอดน้อยได้ โดยยิ่งได้รับกาแฟมากเท่าใดก็ยิ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้น
คุณแม่ให้นมบุตร: แม้ว่าคาเฟอีนในน้ำนมไม่ได้ส่งผลเสียร้ายแรงต่อทารก อย่างไรก็ตามหากแม่ที่บริโภคคาเฟอีนปริมาณสูงเป็นประจำ เช่น วันละ 750 มิลลิกรัมหรือมากกว่านี้ อาจส่งผลต่อพฤติกรรมบางอย่างของทารกอันเกิดจากฤทธิ์คาเฟอีนที่กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง เช่น นอนน้อยลง ตื่นง่าย กระสับกระส่าย งอแง อยู่ไม่สุข ดูดนมได้ไม่ดี นอกจากนี้แม่ที่ดื่มกาแฟเกินกว่าวันละ 450 มิลลิลิตร (หรือ 2 แก้ว) เป็นประจำ อาจทำให้ธาตุเหล็กในน้ำนมลดลง ในระยะยาวอาจทำให้ทารกที่บริโภคนมแม่เพียงอย่างเดียวเกิดภาวะโลหิตจางได้เล็กน้อยจากการขาดเหล็ก
ในผู้ที่มีสุขภาพดีทั่วไปการดื่มกาแฟปริมาณปานกลางซึ่งมีคาเฟอีนประมาณ 200 มิลลิกรัมต่อครั้งและรวมทั้งวันประมาณ 400 มิลลิกรัม (ปริมาณวันละ 3-4 แก้ว) ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
การดื่มกาแฟที่สกัดเอาคาเฟอีนออกทำให้ได้รับผลเสียเกิดจากคาเฟอีนลดลง และกาแฟที่ชงแบบไม่กรองอาจมีปริมาณไขมันไม่ดีมากกว่ากาแฟชนิดอื่น ทางที่ดีจึงควรดื่มกาแฟชงแบบกรองเพื่อลดไขมันเหล่านี้ นอกจากนี้หากจะดื่มกาแฟควรหลีกเลี่ยงการใส่น้ำตาลและครีมนะคะ
Posted in: บทความ, บทความน่ารู้