ไม่กินเค็มใช่ลดแค่เกลือกับน้ำปลา?! แต่หมายถึงอาหารอีกหลายชนิด
ในชีวิตประจำวันเรามีอาหารหลายประเภทที่มี “โซเดียม” ซึ่งบางทีก็ไม่ได้ให้รสชาติเค็มเสมอไปค่ะ เมื่อรับประทานมากเกินพอดีจากที่มีประโยชน์ก็จะทำให้ไตทำงานหนักจนเกิดเป็นความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไตและโรคความดันโลหิตสูงได้ ดังนั้นควรทานแต่พอดีนะคะ
“โซเดียม” มีในอาหารอะไรบ้าง..
น้ำจิ้ม น้ำราด น้ำพริก ซอสทั้งหลาย สายบุฟเฟ่ต์ยิ่งคุ้มยิ่งจิ้ม ยิ่งราดเยอะ อร่อยแต่ไม่ดีแน่ ๆ
อาหารกระป๋อง อาหารหมักดอง เนื้อสัตว์แปรรูป อาทิ แฮม ไส้กรอก หมูหยอง หมูแผ่น ฯลฯ
ขนมปัง แม้จะไม่ได้มีรสชาติเค็ม แต่ในขนมปังมีผงฟู และผงฟูคือเกลือชนิดหนึ่ง ซึ่งขนมปังมีโซเดียมสูงกว่าข้าวเสียอีก
ขนมคบเคี้ยว ขนมอบกรอบ หรือขนมคลุกผงปรุงรส ถือเป็นหนึ่งในของทานเล่นที่ได้รับความนิยม
ดูแลตัวเองอย่างไร ให้ห่างไกลจากโรคไต
นั่นคือการควบคุมพฤติกรรมการกินให้พอดีนั่นเอง โดยทั่วไปปริมาณโซเดียมที่ร่างกายควรได้รับต่อวันนั้นอยู่ที่ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม แนะนำให้สังเกตุฉลากโภชนาการทุกครั้ง ยิ่งถ้าควบคุมได้น้อยกว่า 1,500 มิลลิกรัมได้ยิ่งดีค่ะ
นอกจากเรื่องของอาหารการกินแล้ว เราก็ควรจะต้องออกกำลังกาย ดูแลร่างกายตัวเองให้ดี ให้ห่างไกลจากโรคความดันสูง เบาหวาน ที่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคไตต้องดื่มน้ำเยอะๆ ปกติไม่ต่ำกว่า 2 ลิตรต่อวัน เพราะไตมีหน้าที่ขับของเสียออกทางปัสสาวะ ดังนั้นหากเราดื่มน้ำน้อย ก็จะทำให้ไตทำงานหนัก และขับของเสียออกมาได้ไม่ดี ทำให้เกิดเป็นของเสียตกค้างและเสี่ยงเป็นโรคไตได้ในที่สุด
โดยปกติโซเดียมจะทำหน้าที่ควบคุมสมดุลของเหลวในร่างกาย รวมถึงความดันโลหิตและการดูดซึมเกลือแร่ต่างๆ หากร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินไป ร่างกายจะดูดซึมน้ำกลับเข้าสู่ร่างกายมากขึ้น จึงทำให้เกิดอาการ ‘บวมน้ำ’ ได้ค่ะ
Posted in: บทความน่ารู้